วัดวันเมียวหรือวิหารวรรณกรรม
 
 
 
 
สวัสดีครับ ขอเล่าเรื่องประเทศเวียดนามต่อจากครั้งที่แล้วนะครับ ครั้งนี้จะเล่าเรื่องเกี่ยวกับวัดวันเมียว หรือที่รู้จักกันในนามของ "วิหารวรรณกรรม" ซึ่งถือกันว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของเวียดนาม เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวไม่พลาดที่จะไปชม ยิ่งถ้ามีไกด์ช่วยเล่าประวัติความเป็นมา และชี้ให้ดูสถานที่สำคัญต่าง ๆ ประกอบไปด้วย ก็จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
วัดวันเมียว เป็นวัดโบราณแห่งหนึ่งของเวียดนาม ตั้งอยู่ในกรุงฮานอย มีประวัติความเป็นมายาวนานเกือบพันปี สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1070 ซึ่งเป็นยุคของ ราชวงศ์หลี่ โดยพระเจ้าหลี่ ไท ตง โปรดฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อเชิดชูคุณธรรม โดยอุทิศให้แก่ขงจื๊อ ปราชญ์ชาวจีน ผู้ยึดมั่นในคุณธรรมความถูกต้อง
ต่อมาในปี 1076 ได้มีการสร้างโรงเรียนสำหรับขุนนางขึ้นในบริเวณเดียวกันกับวัด เพื่อให้เหล่าขุนนางได้เข้าศึกษาเล่าเรียนและสอบเป็นจอหงวน เมื่อถึงยุคสมัยของราชวงศ์ตรัน จึงได้เปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้าเรียน วิชาที่สอนนั้นเป็นวิชาปรัชญาของขงจื๊อ ประกอบไปด้วยเรื่องการประพฤติปฏิบัติตน วิชาประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เป็นต้น มหาวิทยาลัยแห่งแรกของเวียดนามนี้ ได้เปิดสอนจนถึงปลายศตวรรษที่ 18 ก็ได้ปิดตัวลง และถูกทิ้งให้รกร้าง เมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดเวียดนามเป็นเมืองขึ้น
ปัจจุบัน วิหารวรรณกรรมแห่งนี้กลายเป็นสถานที่รวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์ทางการศึกษาของเวียดนาม และเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของฮานอย แม้เวลาผ่านไปร่วมพันปี แต่วิหารวรรณกรรมแห่งนี้ ยังได้รับการบูรณะซ่อมแซมให้คงความเป็นตัวอย่างวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของชาวเวียดนามได้เป็นอย่างดี ภายในบริเวณวัดมีพื้นที่กว้างขวาง โดยมีกำแพงล้อมรอบถึง 5 แห่ง และก่อนจะเข้าสู่ประตูใหญ่ของวิหาร เหนือขึ้นไปของประตูมีข้อความเขียนว่า "ขอให้ผู้มาเยือนลงจากหลังม้าก่อนที่จะเข้าไปข้างใน"
หลังจากผ่านเข้าประตูทางเข้าวัดแล้ว เป็นที่ตั้งของตึกดาวลูกไก่ ซึ่งเป็นแหล่งที่เหล่านักอักษรศาสตร์ใช้ท่องบทกวี เมื่อผ่านประตูแห่งความสำเร็จ (เชื่อกันว่าอธิษฐานสิ่งใดที่ดีงามจะได้สิ่งนั้น) ก็จะพบกับลานโล่งล้อมรอบสระน้ำใหญ่ที่มีชื่อว่า สระแสงงาม เวลาแสงจากดวงอาทิตย์สาดส่องที่ผิวน้ำจะสะท้อนเข้าสู่ประตูใหญ่ เชื่อว่าจะทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง ลานโล่งบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของแผ่นหินจารึกชื่อของ จอหงวน ที่ผ่านการสอบหลักสูตร 3 ปี ซึ่งแต่ละแผ่นตั้งอยู่บนหินรูปเต่า ที่มีจำนวนถึง 82 แผ่น จากที่เคยมีอยู่เดิมถึง 117 แผ่น โดยเริ่มมีการบันทึกไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1442-1779 ผู้คนนิยมลูบที่หัวเต่า โดยเชื่อกันว่าจะทำให้ประสบความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียน
ด้านตรงข้ามกับวิหารมีอาคารแห่งการเฉลิมฉลอง ซึ่งเป็นที่ตั้งเครื่องเซ่นสังเวยให้แก่ขงจื้อ อีกทั้งยังเป็นบริเวณที่กษัตริย์ได้ทรงมอบน้ำพระพิพัฒน์สัตยาให้กับอาจารย์ผู้สอนในอดีต ซึ่งบริเวณนี้มีแผ่นไม้ที่สลักไว้ด้านบนแท่นบูชาว่า 'อาจารย์ของนักเรียนกว่าพันรุ่น' นอกจากนี้ ภายในวิหารวรรณกรรมแห่งนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรม รวบรวมผลงานด้านศิลปกรรม ทั้งงาน ปั้น งานแกะสลัก และรูปภาพ ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน คุ้มค่าในการการเข้าเยี่ยมชมจริง ๆ (ชมภาพบรรยากาศในวัด คลิกที่นี่)

4 ตุลาคม 2550