เอ็กซิตโพล (Exit Poll)
 
 
 
 
สวัสดีครับ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านคงได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว และหลังปิดหีบเลือกตั้ง เวลา 15.00 น. ท่านคงได้รับชมและรับฟังการทำนายผลการเลือกตั้งจาก เอ็กซิตโพล ของหลายสำนัก ทำให้เกิดการวิพากย์วิจารณ์กันในช่วงเวลานั้นอย่างคาดไม่ถึง เอ็กซิตโพลคืออะไร เราจะมาคุยกันในวันนี้ครับ
เอ็กซิตโพล มาจากคำในภาษาอังกฤษว่า exit poll โดยคำว่า exit หมายถึง "ออก" และคำว่า poll หมายถึง "คะแนนเสียง" เมื่อรวมกันจึงหมายถึง "คะแนนเสียงที่มีการจัดทำขึ้นในช่วงการเลือกตั้ง โดยนำข้อมูลมาจากการสุ่มสอบถาม ผู้ที่เพิ่งออกจากคูหาเลือกตั้ง" ผู้จัดทำเอ็กซิตโพล อาจจะเป็นบริษัทเอกชน หน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานจากสถานศึกษา เพื่อแสดงผลการเลือกตั้งในภาพรวมก่อนที่จะมีการนับคะแนนในช่วงท้ายวัน
ตามปกติในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่าน ๆ มา เอ็กซิตโพลมักจะประกาศผลออกมาในตอนสาย ๆ ของวันที่มีการเลือกตั้ง แต่สำหรับครั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. มีกฎห้ามประกาศเอ็กซิตโพลออกมาในช่วงเวลาที่ยังมีการเลือกตั้งอยู่ เพราะเกรงว่าจะเป็นการชี้นำประชาชนที่ยังไม่ไปออกเสียง ไปลงคะแนนเสียงให้พรรคใดพรรคหนึ่งมากเกินไป ในการเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีการประกาศเอ็กซิตโพลออกมาภายหลังเวลา 15.00 น. ซึ่งปิดหีบเลือกตั้งแล้วนั่นเอง
สำหรับหน่วยงานที่จัดทำและประกาศเอ็กซิตโพลในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นสถาบันการศึกษาทั้งหมด ได้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต (สวนดุสิตโพล) , มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบคโพล) และ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นที่น่าทึ่งก็คือเอ็กซิตโพลที่แต่ละสถาบันประกาศออกมาในเวลา 15.00 น. มีผลใกล้เคียงกับผลการนับคะแนนที่เสร็จสิ้นแล้ว (ประมาณ 24.00 น.) อย่างน่าประหลาดใจราวกับใช้เวทมนตร์ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นได้นะ [ผลเอ็กซิตโพล][ผลการเลือกตั้ง]
ความเป็นจริงก็คือ เอ็กซิตโพลถือเป็นการวิจัย(Research)ประเภทหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการออกแบบการวิจัย(Research Design) วิธีเก็บรวบรวบข้อมูล วิธีวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งสถิติที่ใช้ ตามหลักการวิจัยอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องของกลุ่มตัวอย่าง จากทฤษฎีที่ว่าข้อมูลของกลุ่มตัวอย่าง(Sample)ที่ดี จะสามารถนำไปสรุปเป็นข้อมูลของประชากร(Population)ได้อย่างใกล้เคียงและน่าเชื่อถือที่สุด และเหตุที่ต้องศึกษากับกลุ่มตัวอย่างแทนที่จะต้องไปศึกษากับประชากรทั้งหมด ก็เพราะความจำกัดในเรื่องเวลา สถานที่ และงบประมาณนั่นเอง เห็นหรือยังครับว่าการวิจัยมีประโยชน์มากจริง ๆ ถ้ารู้จักเลือกเรื่องทำวิจัยที่เหมาะสม

25 ธันวาคม 2550